บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ
Thinking out loud โดย เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล
ช่วงนี้ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนพูดถึง Thailand 4.0
พวกเราคงจะได้ยิน Keywords เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things, Paperless, Cashless, Virtual Reality, Agile, Scrum, Big data ฯลฯ ผ่านสื่อและงานสัมมนาต่าง ๆ มากมาย
สำหรับหลายๆคน แม้ว่าจะคุ้นหูกับคำ Keywords “หนักๆ” เหล่านี้ เรื่องของเศรษฐกิจดิจิตอลนั้นยังคงดู “ลอยๆ” และยังขาดความชัดเจนว่า “Digital Disruption” นั้นคืออะไร?
ในมุมมองของดิฉัน Digital Disruption คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานหรือโมเดลธุรกิจให้สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
จากประสบการณ์การทำงานด้าน Design Thinking มีองค์กรต่างๆ มาขอให้เข้าไปช่วย “Digital Transform” องค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาขับเคลื่อนการทำงานให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล
วันนี้เลยอยากมาเล่าว่า Design Thinking นั้นเชื่อมโยงกับ Digital Disruption อย่างไร?
ดิฉันคิดว่ากระบวนการ Design Thinking เป็นแนวคิดสำคัญในการเตรียมความพร้อมขององค์กรให้ยุคของเศรษฐกิจดิจิตอล ด้วยเหตุผล 3 ข้อดังต่อไปนี้
เหตุผลที่ 1: Design Thinking หรือที่บางคนเรียกว่า Human-Centered Design นั้น เน้นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในทุกๆ เรื่องนั้นไม่ใช่การไม่หลับหูหลับตาเอาเทคโนโลยีมาใช้ แต่เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกิดจาก “Human Need” หรือความต้องการของคนที่เกี่ยวข้อง
นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิตอลไม่ใช่การคิดและผลิตแอพพลิเคชั่น เพียงแค่เพื่อที่จะ “มีเหมือนคนอื่นๆ” แต่แอพพลิเคชั่นหรือเทคโนโลยีนั้นๆ จำเป็นที่จะต้องช่วยตอบโจทย์ปัญหาสำคัญและทำให้ชีวิตหรือการทำงานดีขึ้น เป็นการสร้างสรรค์เทคโนโลยีจากการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง
จุดเริ่มต้นของการปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงยุคดิจิตอลจึงไม่ใช้การทำความรู้จักกับเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ แต่เป็นการทำความเข้าใจ “คน” ที่ต้องเป็น “ผู้ใช้” เทคโนโลยีนั้น ๆ
เหตุผลที่ 2: Design Thinking เป็นกระบวนการที่เน้นการคิดเร็วทำเร็ว
สนับสนุนให้สร้างต้นแบบ เอาไอเดียมาทดลอง เพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาด การคิดเร็วทำเร็วนั้นสำคัญในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล เพราะหากจะมัวแต่วิเคราะห์ คำนวณความเสี่ยงก็มักจะไม่ทันการณ์ ผู้ชนะคือผู้ที่ปรับตัวเร็ว ตามทัน Lifestyle และรูปแบบการทำงานของคนที่เปลี่ยนไป
การนำเทคโนโลยีมาประกอบและเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นเป็นการ “disrupt” รูปแบบการทำงานเดิม ๆ เพราะการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นต้องใช้เวลาและมีการปรับตัว ดังนั้นแนวคิดการสร้าง prototype หรือต้นแบบมาลองก่อนนั้นจึงสำคัญมาก
เหตุผลที่ 3: Design Thinking เป็นแนวการทำงานที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
นั่นคือ มีการร่วมกันคิดร่วมกันทดลองของตัวแทนจากหลาย ๆ ส่วนในองค์กรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ได้เป็นการคิดของ “คนๆเดียว” แต่เกิดจากการระดมสมองเป็น “ทีม” เพราะการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืนคือการสร้าง Innovation จาก Collaboration หรือการดึงทุกคนในองค์กรให้เข้ามามีส่วนร่วมจนเกิดเป็น “วัฒนธรรมใหม่” ในการทำงาน
โดยสรุปแล้ว Digital Disruption ไม่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยเทคโนโลยี แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องนำโดย “คน” ทั้งการทำความเข้าใจคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงการพัฒนาคนภายในองค์กรให้มีแนวคิดแบบ Design Thinking ในการกล้าทำและกล้าลองอย่างเข้าใจ
ขอปิดท้ายด้วยเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน ... ดิฉันได้โอกาสไปจัดกิจกรรม Design Thinking ที่ต้องมีการนำเสนอผลงานหน้าห้องในเวลาที่จำกัด ในขณะที่ทุกคนกำลังวุ่ยวายพยายามหาแอพพลิเคชันที่ช่วยส่งเสียงเตือนเมื่อหมดเวลาในการนำเสนอผลงาน
น้องคนหนึ่งหยิบเอาแก้วและช้อนขึ้นมาเคาะ
บางที เทคโนโลยีก็ไม่ได้ตอบโจทย์เสมอไป
Kommentare