ขอบคุณบทความสัมภาษณ์จาก the 101.world
เรื่องและภาพ โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล
ช่วงหลายปีมานี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือรู้จักกับคำว่า ‘Design Thinking’ กันมากขึ้น ในฐานะเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในระดับองค์กรและระดับปัจเจก
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล คือคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่อง Design Thinking มาอย่างต่อเนื่อง จริงจัง โดยนำแนวคิดนี้ไปเผยแพร่และอบรมให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านบริษัทที่เธอเป็นผู้ก่อตั้งอย่าง บริษัท ลูกคิด (LUKKID) จำกัด และ Asian Leadership Academy (ALA)
นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้แปลหนังสือ ‘คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking’ (Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life) เขียนโดยสองอาจารย์จาก Stanford d.school ผู้เชี่ยวชาญการประยุกต์ใช้ Design Thinking ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อไม่นานนี้โดยสำนักพิมพ์ bookscape ด้วย
101 นัดสนทนากับเมษ์ เพื่อทำความเข้าใจการใช้ Design Thinking ให้มากขึ้น ตั้งแต่ที่มาที่ไป แก่นความคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง พร้อมการนำไปปรับใช้ในแง่มุมต่างๆ ที่คนทั่วไปอาจคิดไม่ถึง
อธิบายให้ฟังคร่าวๆ หน่อยว่า Design Thinking คืออะไร
Design Thinking โดยภาพรวมมันคือกระบวนการคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ จากการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บริการใหม่ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ
เป้าหมายของการใช้ Design Thinking คือการหาสิ่งที่คนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการ แต่จริงๆ แล้วเขาต้องการ หัวใจของกระบวนการนี้คือการถอยออกมาจากปัญหาก่อน อย่าเพิ่งรีบคิดว่าต้องทำอะไรยังไง แต่ถอยกลับมาทำความเข้าใจว่าคนที่เราจะแก้ปัญหาให้ เขามีความต้องการอะไรบ้าง จากการเข้าไปคุยกับเขา สังเกตเขา กระทั่งการลองไปเป็นเขาดู มันจะเน้นการใช้เวลากับการทำความเข้าใจคน ค้นหาความต้องการจริงๆ ก่อน แล้วค่อยมาระดมสมองกันว่าควรจะทำอะไร
จากประสบการณ์ที่เคยไปสอนเรื่อง Design Thinking ตามที่ต่างๆ เราจะเจอบ่อยมากว่า เขาอยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ต้องสร้างแอพนั้นนี้ แต่พอเราถามว่า การทำแอพนี้ขึ้นมา มันตอบโจทย์ความต้องการด้านไหน อย่างไร ก็มักจะไม่มีคำตอบ ซึ่งสะท้อนว่าคนจำนวนไม่น้อยยังติดอยู่กับการใช้เทคโนโลยีนำไปก่อน โดยไม่ได้คำนึงด้วยซ้ำว่าทำออกมาแล้วมีประโยชน์อะไร หรือมีประโยชน์จริงมั้ย
งานเกี่ยวกับ Design Thinking ที่คุณทำอยู่ตอนนี้ มีอะไรบ้าง
งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มีสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือการเอา Design Thinking เข้าไปแลกเปลี่ยนกับองค์กรหรือภาคธุรกิจต่างๆ อันนี้จะอยู่ภายใต้บริษัทชื่อว่า ลูกคิด (LUKKID) จำกัด อีกส่วนคือ Asian Leadership Academy (ALA) จะโฟกัสไปที่ด้านสังคม โดยเอาวิธีการเดียวกัน กระบวนการเดียวกัน มาปรับใช้กับโจทย์ด้านสังคมต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา หรือด้านสาธารณสุข
ที่เกริ่นมาว่า หัวใจหลักคือการช่วยหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นความต้องการที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำ อยากให้ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย
ขอยกตัวอย่างงานด้าน Healthcare ละกัน มีโรงพยาบาลหนึ่งให้เราเข้าไปช่วยออกแบบหน่วยฉุกเฉินและส่งต่อคนไข้ (Referal Center) โจทย์ของเขาก็คือ จะพัฒนาระบบให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ยังไง สิ่งที่เขามีในใจก็คือ ถ้ามีเทคโนโลยีหรือแอพที่สามารถทำให้เห็นแบบเรียลไทม์ได้ว่า ตอนนี้คนไข้อยู่บนโรงพยาบาลแล้วนะ สภาพเป็นแบบนี้นะ เพื่อที่คุณหมอซึ่งรออยู่ จะได้รู้ก่อนล่วงหน้าว่าควรจะรักษาอย่างไร ก็น่าจะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาเร็วขึ้น
พอเราฟังโจทย์ของเขาปุ๊บ เรารู้สึกว่าแอพแบบนี้ก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง แต่มันน่าจะยังมีอีกหลายๆ ส่วนในกระบวนการนี้ที่เราอาจคิดไม่ถึง เราจึงให้เขาลองไปคุยกับคนที่อยู่ในเส้นทางนี้ทั้งหมด ตั้งแต่มีเหตุเกิดขึ้น มีการติดต่อรถพยาบาล จนกระทั่งไปถึงโรงพยาบาล ว่าแต่ละสเต็ปอะไรมีช่องโหว่หรือโอกาสตรงไหนบ้าง ที่น่าจะเป็นจุดที่ช่วยลดระยะเวลาในการส่งคนไข้ถึงมือหมอได้
คำตอบหนึ่งที่เขาได้ก็คือ จริงๆ แล้ว ทุกคนบนเส้นทางของการดูแลคนไข้ฉุกเฉิน ตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ จนถึงโรงพยาบาล ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเองหมดเลย แต่กลับไม่มีคนที่ทำหน้าที่หนึ่ง ก็คือคนที่เอารายละเอียดคนไข้ไปส่งให้หมอ เรามีคนขับรถ มีพยาบาลรออยู่ที่แผนก มีคนปั๊มหัวใจ แต่ไม่มีคนที่จะเชื่อมกับหมอว่า คุณหมอคะ เรามีคนไข้อยู่ตรงนี้นะ เจอเหตุแบบนี้มา อาการเป็นแบบนี้ มันขาดคนสื่อสารในจุดเล็กๆ ตรงนี้จุดเดียวแค่นั้นเอง ซึ่งทำให้เสียเวลา เพราะเมื่อคนไข้ถูกส่งไปถึงโรงพยาบาล เขาต้องมาทวนและสื่อสารกันอีกทีหนึ่ง
เมื่อเจอจุดนี้ เขาก็ออกแบบไอเดียกันขึ้นมาว่า ถ้า assign หน้าที่นี้ให้ใครสักคนที่อยู่ในหน่วย เช่น พยาบาลสักคน ทำหน้าที่รับสารและส่งสารต่อให้หมอ ก็น่าจะช่วยให้ flow มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจ้างคนเพิ่ม หรือไม่ต้องทำแอพอะไรเลยด้วยซ้ำ
นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เขาได้รู้ถึงความต้องการที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากมายเลยด้วยซ้ำ เราแค่ย้อนกลับมาดูคนที่เกี่ยวข้อง สำรวจว่าเขาต้องเจออะไรที่หน้างานบ้าง แล้วจะทำยังไงให้งานของเขามีประสิทธิภาพขึ้นได้บ้าง
อีกตัวอย่างที่เข้าไปทำกับโรงพยาบาลเหมือนกัน คือการโปรโมตให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องล้างมือเป็นประจำ เพราะมันมีโรคเยอะมากที่เกิดจากการที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ล้างมือ ซึ่งพอเขาจะแก้ปัญหานี้ เขาก็กลับมาทำความเข้าใจกับบุคลากรก่อนว่าทำไมถึงไม่ล้าง แพทย์บางคนก็บอกว่า บางจังหวะมันล้างไม่ได้จริงๆ หรือบางทีก็ลืมบ้าง ทีนี้พอมีการโปรโมตให้ล้างมือ เช่น การติดป้าย เขาก็จะตื่นตัวกันอยู่พักนึง แล้วก็หายไป
ทีนี้เขาก็ลองหาให้ลึกไปอีกว่า ทำไมเวลาโปรโมต คนถึงทำกันแปปเดียวแล้วก็ไม่ใส่ใจ สิ่งที่จับประเด็นได้ก็คือ ไม่ว่าจะล้างหรือไม่ล้าง ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โอเค มันอาจมีการแพร่ของเชื้อโรคโดยที่เรามองไม่เห็น แต่ประเด็นคือมันจับต้องไม่ได้ ฉะนั้นเขาเลยตั้งโจทย์กันใหม่ว่า การที่คนรู้ว่าตัวเองล้างหรือไม่ล้าง จะมีผลยังไง โดยเฉพาะผลที่เกิดกับตัวเอง อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้
เขาก็เลยคิดการทดลองขึ้นมาอันนึง เป็นการทดลองที่น่ารักมากเลย คือเวลาเปิดประตูเข้าไปในห้องหรือวอร์ดต่างๆ จะมีเสียงเตือนดังขึ้นมาว่า อย่าลืมล้างมือก่อนสัมผัสคนไข้ นอกจากนี้ก็มีกล่องที่ตั้งไว้เพื่อให้คนไข้ช่วยประเมินอีกทีว่าบุคลากรล้างมือจริงรึเปล่า
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลังจากเอาการทดลองแบบนี้ไปใช้ในหลายๆ วอร์ด พอคนรู้ว่าตัวเองกำลังโดนประเมินอยู่ เขาก็ล้างมือมากขึ้นโดยทันที เหมือนรู้ว่าถ้าไม่ล้างจะมีผลบางอย่างต่อตัวเอง
ตัวอย่างที่ยกมา อย่างเรื่องการโปรโมตการล้างมือในโรงพยาบาล อยากรู้ว่าในส่วนของทีมคุณได้เข้าไปช่วยถึงระดับไหน
เราจะช่วยเฟรมในเบื้องต้นว่า เขาอยากจะทดสอบอะไร แล้วจะทดสอบได้ยังไง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ design thinking ประสบความสำเร็จ ก็คือการสนับสนุนจากผู้บริหารด้วย อย่างในโรงพยาบาลที่เล่าให้ฟังนี้ ผู้บริหารเขาแอคทีฟมาก เข้ามาร่วมคิด ร่วมทดลอง แล้วก็คอยคอมเมนต์อยู่ตลอด แล้วเวลาที่บุคลากรอยากทดลองอะไร เขาอนุญาตให้ทำหมด ซึ่งเรารู้สึกว่า ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะมีผู้บริหารแบบนี้ หรือเปิดพื้นที่ให้ทดลองอะไรแบบนี้
ส่วนตัวเรามองว่าการที่จะคิดอะไรใหม่ๆ ได้ มันต้องมีที่ให้ล้ม เพราะถ้าไม่มีที่ให้ล้ม ก็ยากที่จะเกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้
การมีพื้นที่ให้ล้ม สำคัญยังไง
เวลาเราคิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง เช่น จะทำธุรกิจ เราก็อาจไปปรึกษาเพื่อนว่า เฮ้ย มันจะขายได้มั้ย มันจะเจ๊งรึเปล่า ซึ่งเรามองว่า สุดท้ายแล้วมันไม่มีใครรู้หรอกว่าจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง ถ้าเราไม่ลองทำดู
หมายความว่าทั้งหมดมันคือการทดลอง เวลาเราคิดไอเดียขึ้นมาลอยๆ เราไม่รู้หรอกว่ามันถูกรึเปล่า ก็ต้องไปทดลอง ทีนี้จะทดลองได้ ก็ต้องมีพื้นที่ให้ผิดได้ ซึ่งคำว่าผิด อาจไม่ได้แปลว่าเจ๊งหรือล้มเหลว แต่อาจเป็นแค่การเรียนรู้ว่า เฮ้ย ไอเดียแบบนี้ ไม่ต้องทำแล้วนะ เพราะมันไม่เวิร์ก แล้วก็เปลี่ยนวิธีใหม่
ฉะนั้น ด้วยกระบวนการของมัน ก็คือการกลับรีเช็คกับคนที่เป็น user หรือกลุ่มเป้าหมายของเราว่า ใช่แบบนี้รึเปล่า ที่คุณต้องการ ถ้าไม่ใช่ มันไม่ใช่เพราะอะไร แล้วก็เอามาปรับใหม่ แต่ถ้าเราไปคาดหวังแต่แรกว่า จะต้องทำออกมาแล้วเพอร์เฟกต์ มันจะยาก แล้วคนก็จะกลัว กลัวว่าเดี๋ยวไม่เพอร์เฟกต์ แล้วก็ไม่กล้าลอง
องค์กรไหนที่ผู้บริหารบอกว่า เฮ้ย ลุยเลย ผิดก็ไม่เป็นไร ถือเป็นการเรียนรู้ องค์กรนั้นก็เหมือนแล็บ คนในองค์กรจะรู้สึกว่าเขามีอิสระในการทดลองอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเกิดลองแล้วโดนด่า สุดท้ายเขาจะ play safe แล้วเขาก็จะไม่คิดไอเดียที่มันบ้าๆ หรือหลุดออกไปจากกรอบเดิมๆ ซึ่งไม่มีทางนำไปสู่อะไรใหม่ๆ ได้เลย
บางทีเราจะถูกปลูกฝังมาว่า ต้องทำให้มันเพอร์เฟกต์ก่อนนะ ถึงเอาไปโชว์เจ้านาย แต่ design thinking จะบอกว่า เพราะมันไม่ Perfect นั่นแหละ คุณถึงต้องเอาไปโชว์เจ้านาย design thinking จะโฟกัสกับ ‘กระบวนการ’ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั้นมา ว่าเขาได้เรียนรู้อะไร เขาล้มยังไง แล้วเขาแก้ปัญหายังไง ซึ่งเราว่ามันเป็นหัวใจที่แท้จริงของการทำทุกๆ อย่างเลย
เวลาจะเริ่มโปรเจ็กต์กับแต่ละที่ มีวิธีการดีลกันอย่างไร ทำงานร่วมกันอย่างไร
สิ่งที่เราทำ หรือโปรเจ็กต์แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นมา มันไม่ได้เกิดจากการที่เราเป็นคนคิด และไม่ได้เกิดจากการที่เขาบอกว่าอยากให้เราทำอะไร แต่เกิดจากการทำงานร่วมกัน ระดมสมองกัน ว่ามันควรจะเป็นแบบไหน แล้วก็มาช่วยกันดีไซน์
ประเด็นที่จะบอกคือ เราไม่ได้ไปทำให้เขาทั้งหมด หน้าที่ของเราคือออกแบบกระบวนการ เพื่อให้เขาเอาไปทำต่อเอง เราไม่ได้วางตัวเองเป็นที่ปรึกษา แต่เรามองตัวเองว่าเป็น facilitator หมายความว่าถ้าเราออกมา เขาต้องขับเคลื่อนกระบวนการหรือโปรเจ็กต์ต่างๆ ต่อไปได้ อย่างหลายๆ ที่ พอเขาเข้าใจคอนเซ็ปต์ประมาณนึงแล้ว ได้ทดลองทำโปรเจ็กต์บางอย่างแล้ว เขาก็บอกว่าขอลองลุยต่อเอง โดยที่เราขยับออกมาเป็นโค้ชอยู่ห่างๆ
เท่าที่ฟังมา ดูเหมือนว่าคนที่มาขอคำปรึกษา หรือให้คุณเข้าไปช่วยเรื่อง Design Thinking มักจะมีโจทย์หรือเป้าหมายของตัวเองอยู่แล้ว แต่ไม่รู้วิธีหรือกระบวนการว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร
ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่อีกมุมหนึ่ง มันคือการที่เขาอาจต้องการ redesign อะไรบางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นว่า จะต้องตั้งต้นจากปัญหาบางอย่างเสมอไป เช่น สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า หรือกระทั่งออกแบบวิธีการทำงานใหม่ๆ เป็นต้น
สิ่งที่คุณคาดหวังจากการสอนเรื่อง Design Thinking แต่ละครั้งคืออะไร
ในมุมของเราที่เข้าไปสอนเขา เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาต้องคิดอะไรที่ยิ่งใหญ่วิลิศมาหรา แต่เราอยากให้เขาได้เรียนรู้การทำงานที่ไม่ได้เกิดจากตัวเองอย่างเดียว แต่เกิดจากการทำความเข้าใจคนรอบข้างแล้วจึงคิด ทำ หรือทดลองออกมา ถ้ายังไม่เวิร์คหรือยังมีปัญหาตรงไหน ก็ค่อยๆ พัฒนาต่อไป
เรามองว่านี่เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่าส่วนใหญ่เวลาคนคิดจะทำอะไรสักอย่าง เขามักจะคิดว่าต้องทำให้เพอร์เฟกต์ก่อน แล้วค่อยไปโชว์คนอื่น โดยที่ไม่กล้าทดลอง ไม่กล้าเรียนรู้ แต่เราจะเน้นให้เขาทดลอง และเรียนรู้จากความผิดพลาดได้
มองกระแส Design Thinking ที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบันยังไง
เรารู้สึกว่า คำว่า design thinking ในปัจจุบัน มีคนพูดถึงเยอะ แล้วบางทีก็ใช้กันแบบฟุ่มเฟือยไปหน่อย เหมือนเป็น buzzword ที่ใครๆ ก็เอามาพูดกัน
จากที่เคยเจอมา บางคนจะมองว่ามันเป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้โน่นแก้นี่ได้ หลายครั้งคนที่ติดต่อเรามา จะพูดทำนองว่า พวกเราหาเครื่องมือแบบนี้มานานแล้วค่ะ บางบริษัทจะบอกว่า นี่คือเครื่องมือใหม่ที่เราต้องเรียนรู้นะ อะไรก็ว่าไป แต่เรามองว่ามันไม่ใช่เครื่องมือวิเศษอะไร มันเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งที่ดี ที่เอาไปปรับใช้กับชีวิตและการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
เอาเข้าจริงแล้ว มันเป็นคอมมอนเซ้นส์ในการทำงานอย่างหนึ่งด้วยซ้ำ มันคือการบอกกับตัวเองว่า อย่ายึดตัวเองเยอะเกินไปนะ อย่ามีอัตตาเยอะนะ แต่บางทีเราก็ลืมเรื่องพื้นฐานแบบนี้ไป ด้วยเดตไลน์ที่บีบเราอยู่ หรือด้วยความคิดบางอย่างที่เรามั่นใจมากๆ
ถ้าสรุปง่ายๆ ว่าแก่นของ design thinking คืออะไร มันก็คือการตระหนักถึงคอมมอนเซ้นส์ในการทำงาน ซึ่งบางครั้งเรามองข้ามไป
โดยส่วนตัวคุณเอง วางเป้าหมายในการเผยแพร่เรื่อง Design Thinking ไว้อย่างไรบ้าง
เราว่าความสุขของเราในการทำงานทุกวันนี้ คือการที่เราสามารถช่วยออกแบบกระบวนการ หรือวิธีการที่ทำให้คนในองค์กร คนในสังคม ได้ลองคิดอะไรใหม่ๆ แล้วเกิดการเรียนรู้ ส่วนตัวจะรู้สึกมีความสุขมาก เวลาที่เห็นเขาลงไปทำความเข้าใจโจทย์ของเขามากขึ้น แล้วได้เจอสิ่งที่เขาไม่คิดว่าจะเจอ แล้วทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเติบโต
อีกเป้าหมายหนึ่งที่ใหญ่ขึ้น และอยากทำให้มากขึ้นกว่านี้คือ การนำวิธีคิดหรือ mindset แบบนี้ เข้าไปเชื่อมกับการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งเป็นงานที่ยากขึ้นอีกระดับหนึ่ง เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ต่างจากเวลาที่เราเข้าไปทำกับองค์กรหรือภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ เรารู้สึกว่าอยากทำสิ่งนี้ให้กับคนที่เขากำลังทำบางอย่างเพื่อตอบโจทย์สำคัญๆ ในสังคม
โจทย์ที่เราสนใจหลักๆ ก็คือเรื่อง Healthcare กับเรื่องการศึกษา ซึ่งก็ทำมาประมาณหนึ่ง แต่เราก็ยังไม่ได้เข้าใจมันอย่างลึกซึ้งเท่าไหร่ ยังรู้สึกว่าเป็นโจทย์ที่ยากอยู่
จริงๆ แล้วตอนที่เริ่มทำ ALA เราเริ่มจากโจทย์ด้านสังคมก่อนด้วยนะ คือเรื่องการศึกษา จัดค่ายให้เด็ก แต่ทีนี้พอทำไปสักพัก เราก็เริ่มขยับไปสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น เพราะโดยส่วนตัวรู้สึกว่ามันเห็นผลไวกว่า มี dynamic กว่า แต่ลึกๆ แล้วเราก็พยายามทำโจทย์เพื่อสังคมมาโดยตลอด เช่น การไปสอนให้ครูต่างหวัด ขึ้นดอยไปสอนเองเลย ซึ่งเอาเข้าจริง ก็เจอความยากมาตลอด เพราะสุดท้ายแล้วเราทำคนเดียวไม่ได้
ปัญหาที่เจอเวลาต้องทำโจทย์ใหญ่ๆ เกี่ยวกับสังคม คืออะไร
บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราเข้าไปทำนั้น มันตรงจุดจริงๆ รึเปล่า เพราะระบบมันใหญ่มาก บางทีเราก็กลับมาคิดเหมือนกันว่า จุดที่เราพยายามเข้าไปแก้ มันใช่จุดที่ควรแก้มั้ย อย่างเรื่องการศึกษา เราก็เคยช่วยอาจารย์สมเกียรติ (ตั้งกิจวานิชย์) ที่ TDRI ทำอยู่สองสามปี มีบางช่วงเราบินไปสอนเองเลยนะ ไปเชียงใหม่ ไปศรีสะเกษ ไประยอง เอา design thinking ไปสอน สอนโดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จบแล้วจะเป็นยังไงต่อ หรือจะนำไปสู่อะไรมั้ย เหมือนเรายังมีคำถามอยู่ลึกๆ ว่า มันใช่จุดที่ควรทำรึเปล่า
เหตุผลหนึ่งที่เราอยากจะเข้าใจระบบต่างๆ มากขึ้น ทั้งระบบการศึกษา รวมถึงระบบ Healthcare เพราะเรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วมันไม่ใช่งานที่คนๆ เดียว หรือองค์กรเดียวจะทำได้ สิ่งที่เราทำน่าจะเป็นเพียงชิ้นส่วนหนึ่งของชิ้นส่วนที่ใหญ่กว่าเท่านั้น แต่เราก็ยังมีความหวังอยู่เล็กๆ ว่า สิ่งที่เราทำ อาจเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่เข้าไป fit-in กับภาคส่วนอื่นๆ ได้ และทำให้เกิดอิมแพคบางอย่างกับสังคมได้มากขึ้น
ในมุมของคนทั่วไป สามารถนำเอาแนวคิด Design Thinking ไปปรับใช้กับชีวิตอย่างไรได้บ้าง
อย่างง่ายที่สุดคือการรู้จักหยุดเพื่อทบทวนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าตอนนี้ตัวเราเป็นยังไง ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรารู้สึกอย่างไร หรือเรียนรู้อะไรบ้าง ถ้า design thinking ในระดับองค์กรคือการลงไปทำความเข้าใจ user หรือกลุ่มเป้าหมาย การ design thinking สำหรับคนทั่วไปก็คือการหมั่นทำความเข้าใจตัวเอง มี self-awareness ตลอดเวลา
Commentaires