top of page
  • Writer's pictureLUKKID

Designing Your Covid Life Part I: Generative Acceptance ‘จุดเริ่มต้นของการออกแบบชีวิต คือ การยอมรับ'

Updated: Apr 17, 2020



ในสถานการณ์ที่ไวรัสยังคงระบาด และยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนไป จากที่เคยใช้เวลาอยู่นอกบ้านต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเกือบ 24 ชั่วโมงเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือการที่ต้องจัดประชุมแบบ Virtual Meeting จากที่บ้านตั้งแต่ 9 โมงเช้ายัง 5 โมงเย็น


และด้วยกิจวัตรที่แตกต่างจากชีวิตโดยปกติอย่างสิ้นเชิง ทำให้หลายๆ คนอาจมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปแต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันก็คือ ทุกคนต่างรู้สึกไม่สบายใจต่อทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว

หลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เราจะอาศัยอยู่ในโลกท่ามกลางไวรัสระบาดแบบนี้ได้อย่างไร?"

Bill Burnett และ Dave Evans ผู้เขียนหนังสือและออกแบบหลักสูตร Designing Your Life ได้ลงวีดีโอซีรีย์ชุด "Designing Your Covid Life" ซึ่งพูดถึงเคล็ดลับและวิธีการออกแบบชีวิตให้มีความสุขในภาวะวิกฤตินี้ โดยในวันนี้เราจะมาพูดถึง “Generative Acceptance” ซึ่งทุกท่านสามารถรับชมคลิปวีดีโอเต็มได้ข้างล่างนี้


จะออกแบบวิธีการใช้ชีวิต เกี่ยวอะไรกับการยอมรับ แล้วต้องยอมรับอะไร?


Bill และ Dave แนะนำว่า ก่อนที่เราจะเริ่มทดลองออกแบบชีวิตของตัวเอง สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ "การยอมรับ" ซึ่งในกระบวนการ Designing Your Life พวกเขาถือว่าเป็นขั้นตอนที่ 0 หรือก็คือ ถ้ายังไม่ได้ทำขั้นตอนนี้ก็ยังไม่ควรเริ่มออกแบบนั่นเองครับ


ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่พวกเราจะต้องยอมรับก็คือ วิกฤติที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้เป็น "ปัญหาแรงโน้มถ่วง (Gravity Problem)" อย่างหนึ่ง ซึ่งมองกันในความเป็นจริง พวกเราต่างรู้แก่ใจดีว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันนี้เป็นวิกฤติที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ เราไม่สามารถหยุดยั้งหรือชะลอไม่ให้เกิดโรคระบาดไม่ได้ หรือจบปัญหานี้ได้ด้วยตนเองเช่นกัน


ดังนั้น เราจึงควรเลิกคิดหาวิธีแก้ปัญหาที่ไม่มีคำตอบนี้ และยอมรับความเป็นจริงซะ!


แล้วเราจะยอมรับความเป็นจริงนี้ได้อย่างไร?


Bill และ Dave ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ลักษณะของการยอมรับมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน



ในกรณีของคนทั่วไป พวกเขาอาจเลือกที่จะทำ 2 ใน 3 แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจำยอมต่อเหตุการณ์แล้วไม่ทำอะไร (Oppressed by acquiescence) เช่น “ก็มันเป็นแบบนี้ ฉันทำอะไรไม่ได้หรอก ปล่อยมันไปเถอะ” หรือเก็บกดความรู้สึกไว้แล้วฮึดสู้ (Suppressed by toughing it up) อย่าง การเชื่อมั่นว่า “ฉันทนได้ในเหตุการณ์แบบนี้” แต่ไม่ได้คิดหรือมองหาวิธีการทำให้ชีวิตดีขึ้น


ซึ่งทั้งสองไม่แนะนำให้ทำตามวิธีข้างต้น เนื่องจากทั้ง 2 วิธีไม่ได้ส่งผลชีวิตของพวกเราในระยะยาว


ในทางกลับกัน พวกเราควรยอมรับในในความจริงที่ว่า นี่คือวิถีชีวิตที่เราจะต้องอยู่ต่อจากนี้ ซึ่งจะกลายเป็น "ชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal)" ของเรา เรามีข้อจำกัดใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตแล้ว ดังนั้น เราจึงควรพิจารณาข้อจำกัดและความเป็นจริงที่อยู่รอบตัวของเรา แล้วมองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะอาศัยอยู่ในวิถีชีวิตแบบนี้

และนี่คือการ “Engage the Acceptance” หรือการยอมรับและต่อยอด


สิ่งที่ทั้งสองต้องการจะสื่อก็คือ เรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกไม่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงได้ เรารู้สึกเสียใจต่อการแพร่ระบาด จำนวนยอดผู้เสียชีวิตหรือความทุกข์ ความอึดอัดที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรที่จะจมปรักในความโศกเศร้ามากเกินไป จนไม่ทำอะไรเลย



ช่วงเวลานี้อาจเป็นโอกาสทองของคุณ!


ในบทความหนึ่งของ Harvard Business Review ได้พูดถึงเกี่ยวกับ Kubler-Ross Grief Cycle หรือ 'วงจรความโศกเศร้า' ที่อธิบายถึงสถานะต่างๆ ที่มนุษย์ใช้รับมือและแสดงออกเมื่อรู้สึกเสียใจ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าหลายๆ คนคงอยู่ในสถานะที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าพิจารณาในเรื่องของระยะเวลา ตั้งแต่ที่เกิดวิกฤติขึ้น หลายคนส่วนใหญ่ในที่นี้อาจจะอยู่ในช่วงที่กำลังพยายามย้ายตัวเองจากสถานะซึมเศร้า (Depression) และกำลังที่จะเริ่มยอมรับความเป็นจริงได้ (Acceptance)


หรือก็คือ ช่วงเวลานี้อาจเหมาะสมที่สุด ที่ทุกท่านจะใช้เวลาไตร่ตรองและยอมรับในสถานการณ์ปัจจุบัน และเริ่มมองหาวิธีที่จะออกแบบชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราให้ดีขึ้นภายใต้ข้อจำกัดแบบใหม่ เริ่มตั้งคำถาม ปรึกษาคนรอบตัวเพื่อหาวิธีที่เหมาะสม และทดลองปรับใช้กับตัวเอง


หากทุกท่านทำเช่นนี้แล้ว ในท้ายที่สุด "ความปกติแบบใหม่" ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็น "เรื่องปกติ" สำหรับเราครับ
 

เรียบเรียงเนื้อหาและภาพ โดย พงศ์วิศิษฏ์ จงเลิศรักษ์

142 views
bottom of page