top of page
  • Writer's pictureLUKKID

การให้รางวัลกับความล้มเหลว โอกาสในการสร้างนวัตกรรมในองค์กร





หากถามคำถามว่า “องค์กรใดบ้างอยากมีนวัตกรรม” เชื่อว่าคำตอบทุกองค์กรตรงกันว่า อยากให้องค์กรของตนมี แต่ในทางกลับกันมีเพียงไม่กี่องค์กรที่สามารถทำได้ เพราะองค์ประกอบที่จะทำให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมเกิดขึ้นได้มีได้หลายปัจจัย


หนึ่งในนั้นคือ “การให้โอกาสในการล้มเหลว”


ในโลกธุรกิจหากพูดถึงความล้มเหลว ทุกคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็อยากให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด มีงานวิจัยของลอเรนซ์ เวนซิมเมอร์ จากมหาวิทยาลัยการจัดการแบรดลีย์ ได้ให้ข้อสรุปว่า


“ธุรกิจไหนที่ยอมให้เกิดความผิดพลาดได้ จะทำให้ความสามารถของพนักงานในบริษัท และผลลัพธ์ทางรายได้ของบริษัทดียิ่งขึ้น”

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า “ความล้มเหลว” ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามมาตลอดในโลกธุรกิจ กลับกลายเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กรได้ โดยการที่องค์กรจะเกิดนวัตกรรมได้ ย่อมเกี่ยวข้องกับทัศนคติของการทำงานเช่นกัน


หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องทัศนคติของคนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ คนที่มีทัศนคติแบบยึดติด (Fixed mindset) และคนที่มีทัศนคติแบบเติบโต (Growth mindset)


คนที่มีทัศนคติแบบยึดติด (Fixed mindset) จะเชื่อว่าการประสบความสำเร็จได้ไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก และไม่สามารถยอมรับความล้มเหลวได้ หากมีสิ่งที่ผิดพลาดเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้จะใช้วิธีการตำหนิ ถอนตัว หรือพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


ในขณะที่คนที่มีทัศนคติแบบเติบโต (Growth mindset) จะมองว่าความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้และแก้ไข โดยคนกลุ่มนี้หากเจอความท้าท้ายจะปรับตัว และหาแนวทางในการแก้ปัญหา คุณสามารถประเมินได้ว่า คนในองค์กรของคุณมีคนลักษณะแบบนี้อยู่หรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในองค์กรจนนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จได้


ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้ความว่า การสร้างคนให้มีทัศนคติแบบเติบโตเป็นเรื่องที่ยากเกินไป เพียงแต่ต้องใช้เวลา ให้พื้นที่ และให้โอกาสในการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้

ตัวอย่างกรณีศึกษาองค์กรไทยแห่งหนึ่งเป็นองค์กรที่ต้องการให้พนักงานกล้าคิดและนำเสนอนวัตกรรมในองค์กร เกิดเป็นโครงการ Innovation Challenge โดยเป็นโครงการที่เปิดรับสมัครพนักงานทุกฝ่ายตั้งแต่พนักงานหน้างาน จนกระทั่งพนักงานระดับผู้ใหญ่ให้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรม ผ่านกระบวนการ Design Thinking (กระบวนการคิดเชิงออกแบบ) เป็นแนวทางในการทำงาน ในครั้งนั้นมีจำนวนทั้งหมด 5 ทีม แต่ละทีมได้รับมอบหมายว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะต้องได้ผลลัพธ์ขึ้นมานำเสนอสิ่งที่จะช่วยทำให้คนในองค์กรมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น หรือได้รับความพึงพอใจจากลูกค้ามากขึ้น


หลังจากผ่านไปได้ 3 เดือน ในที่สุดก็มาถึงวันนำเสนอ ผู้บริหารรับฟังเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ได้จากไอเดียของแต่ละทีม และตบท้ายด้วยบทสรุปในการนำเสนอวันนั้นคือ “คุณได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าโครงการนี้” แน่นอนว่าทุกคนได้เรียนรู้กระบวนการ มีทีมที่แพ้ และชนะแต่ไม่ได้หมายความว่าทีมที่แพ้จะถูกมองข้าม หรือโดนตำหนิ แม้ว่าสิ่งที่ทีมทำอาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่ล้มเหลวเพราะไอเดียที่นำเสนอไปต่อไม่ได้ แต่ทีมได้รับคำชมเชยถึงความพยายามที่ตั้งใจทำมาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญเสมือนเป็นรางวัลให้กับทีมที่กล้าบอกเล่านำเสนอสิ่งที่ล้มเหลวให้กับทุกคนได้ฟัง


หลังจากจบโครงการจึงได้มีการถามความรู้สึกของพนักงานแต่ละคนที่เข้าร่วมโดยได้ให้ความเห็นว่า


“การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ได้คิดนอกกรอบ ได้ทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ไม่คิดเองเออเอง ได้รู้จักเพื่อนต่างฝ่ายมากขึ้น และทำให้ได้แนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับฝ่ายหรือแผนกของตนเอง”


ทั้งนี้ต้องชื่นชมว่าเป็นองค์กรที่กล้าให้พนักงานลองผิดลองถูก รวมถึงสนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ทำให้ทีมมีพื้นที่และได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากการทดลองทำ แม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พนักงานรู้สึกถึงพื้นที่ปลอดภัยในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งที่ทีมได้มาและสำคัญไม่แพ้กันคือ


“ประสบการณ์การเรียนรู้” และ “ไม่กลัวที่จะถูกตำหนิว่าตัวเองนั้นล้มเหลว”


ซึ่งเป็นการค่อยๆสร้างความคิดแบบเติบโต (Growth mindset) และเป็นจุดประกายที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร

 

Source :

https://www.teambonding.com/innovation-in-companies-reward-failure/ เขียนและเรียบเรียงเนื้อหาโดย ณฐมน วินนาวรเวช

ภาพประกอบโดย พงศ์วิศิษฏ์ จงเลิศรักษ์



405 views

Recent Posts

See All
bottom of page